ปัสกาของพระคริสต์
ถ้าหากจะถามว่า เทศกาลอะไรที่สำคัญที่สุดในศาสนาคริสต์ หลายท่านก็คงตอบทันทีว่า "เทศกาลคริสต์มาส" เพราะเห็นว่ามีงานเฉลิมฉลองกันใหญ่โตแทบทุกปี และกลายเป็นประเพณีสากลไปแล้ว แต่ความจริงแล้ว เทศกาลที่สำคัญที่สุดในศาสนาคริสต์ก็คือ "เทศกาล ปัสกา" หรือ "เทศกาลอีสเตอร์" ต่างหาก
ทำไมถึงว่าเทศกาลนี้สำคัญที่สุด เหตุผลก็เพราะว่า เทศกาลนี้เป็นเทศกาลที่เราชาวคริสต์ได้ร่วมกันเฉลิมฉลอง การคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูเจ้า หลังจากที่พระองค์ถูกทรมาน และสิ้นพระชนม์บนกางเขนแล้ว เป็นเหตุการณ์ที่แสดงว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเป็นเจ้าเที่ยงแท้ ที่สามารถชนะบาปและความตายได้ เป็นการก้าวพ้นจากความชั่ว ความทุกข์มาสู่ความดีและความสุข พูดง่ายๆ ก็คือ การตายและการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้านั้น ทำให้เราหลุดพ้นจากบาป ความชั่ว ความตาย และมีชีวิตใหม่พร้อมกับพระองค์ สิ่งเหล่านี้เราถือว่าเป็นมรดกแห่งความเชื่อของคริสตชนเลยทีเดียว
อันที่จริง ถ้าหากเราจะสืบสาวราวเรื่องลงไป ถึงต้นตอจริงๆ ของคำว่า "ปัสกา" นั้นก็จะเห็นว่า ปัสกา (Pasqual) เป็นคำมาจากภาษาฮิบรู แปลว่า "การข้าม หรือการก้าวกระโดดผ่านไป" เป็นวันที่ชาวยิวฉลองการกินขนมปังไร้เชื้อ โดยจะฉลองกันในวันที่ 14 ของเดือนนิชาน (Nisan) ก็ราวๆ เดือนมีนาคมหรือเดือนเมษายน ทั้งนี้เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่ พระเป็นเจ้าทรงช่วยเหลือบรรพบุรุษของพวกเขา ให้ออกมาจากการเป็นทาสของชาวอียิปต์ เมื่อหลายพันปีก่อน
เรื่องราวเกี่ยวกับปัสกาของชาวยิวนี้ เราจะพบได้ในหนังสืออพยพ บทที่ 12 ในพระธรรมเก่า ซึ่งจะกล่าวถึงเรื่องการที่พระยาเวย์ ได้ช่วยเหลือชาวอิสราเอล ให้พ้นจากความตาย และเป็นอิสระจากการเป็นทาสของชาวอียิปต์ โดยการนำเลือดแกะมาทาไว้ที่วงกบประตูบ้าน และช่วยพวกเขาข้ามทะเลแดง
ส่วนวันปัสกาของชาวคริสต์ โดยเฉพาะนิกายโรมันคาทอลิกนั้น ถึงแม้ว่าจะมีรากฐานมาจากชาวยิวี้ก็ตาม แต่ว่าปัสกาของชาวคริสต์นั้น ไม่ได้เป็นการฉลองการกินขนมปังไร้เชื้อเหมือนชาวยิว หากแต่เป็นการฉลองเหตุการณ์ที่พระคริสตเจ้า ทรงไถ่บาปของมนุษยชาติโดยการยอมรับทรมาน สิ้นพระชนม์ และเสด็จกลับคืนชีพ โดยมีเครื่องหมายผ่านจากความตาย และกลับคืนชีพเป็นสัญลักษณ์ เป็นการ "ข้ามพ้น" จากความทุกข์ มาสู่ความยินดี จากบาปและความตายมาสู่ชีวิตใหม่
เรื่องราวและเหตุการณ์เกี่ยวกับปัสกาในพระธรรมใหม่ หรือเรื่องราวการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้านี้ เราสามารถที่จะพบได้ในพบได้ในพระคัมภีร์ ทั้งในบันทึกของ มัทธิว บทที่ 28, มาระโก บทที่16, ลูกา บทที่ 24, และยอห์น บทที่ 20 จึงอาจกล่าวได้ว่าเหตุการณ์นี้สำคัญมาก จนผู้นิพนธ์พระวรสารทั้ง 4 ต้องบันทึกไว้อย่างละเอียดทุกๆ คน พยานที่ยืนยันการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า ก็คือ มารีอา ชาวมักดาลา เราจะเห็นได้ว่านางไปที่หลุมศพ พบว่าคูหาว่างเปล่า แต่ที่สุดเธอก็ได้พบกับพระเยซูเจ้า จึงได้กลับไปเล่าเรื่องที่เห็น ให้พวกสาวกของพระองค์ฟัง และหลังจากนั้นในตอนบ่าย ศิษย์สองคน ซึ่งกำลังเดินทางไปหา เอมมาอุส ก็ยังได้พบพระเยซูเจ้าด้วย
นอกจากนั้น เมื่อครั้งพระเยซูเจ้าแสดงองค์ครั้งแรกแก่บรรดาอัครสาวก ที่ห้องชั้นบนในแคว้นกาลิลีนั้น โทมัสไม่ได้ร่วมอยู่ด้วย เมื่ออัครสาวกคนอื่นๆ บอกเรื่องการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า โทมัสกลับไม่เชื่อ และกล่าวว่าจะไม่เชื่อ จนกว่าจะได้เอานิ้วแยงรอยแผลที่พระหัตถ์ และสีข้างของพระเยซูเจ้าก่อน จนกระทั่งพระเยซูเจ้าประจักษ์เเป็นครั้งที่สอง และโทมัสอยู่ด้วย และเห็นกับตา เขาจึงยอมเชื่อ เรื่องการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า หลังจากนั้น สาวกทุกคนก็ได้เปลี่ยนพฤติกรรมจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากคนที่เคยอ่อนแอก็เด็ดเดี่ยวกล้าหาญ เพื่อจะเทศน์สอนเรื่องพระเยซูกลับเป็นขึ้นมา อย่างไม่เกรงกลัวภยันตรายใดๆ ทั้งสิ้น จนกระทั่งตัวตายพวกเขาก็ยอม
จริงๆ แล้ว การกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้านั้น มีความสำคัญและมีความหมายสำหรับ คริสตชนมาก เพราะนี่แสดงว่าพระเยซูเจ้านั้น เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้ และเราเป็นบุตรบุญธรรมของพระเป็นเจ้า เป็นพี่น้องกัน และสุดท้ายเราจะกลับเป็นขึ้นมาจากความตาย และมีชีวิตนิรันดรกับพระองค์
ส่วนเรื่องเกี่ยวกับประเพณี หรือสัญลักษณ์สำหรับวันปัสกา เช่น ไข่ และไก่งวง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีนั้นก็มีเรื่องราวความเป็นมาว่าดังนี้ ไข่ในสมัยก่อนนั้นคนโบราณจะรู้สึกดีใจและมีความสุขมาก เมื่อถึงการกลับมาของฤดูใบไม้ผลิอีกครั้ง ชาวอียิปต์โบราณและชาวเปอร์เซีย เขาจะทำการฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ ด้วยการกินไข่ เพราะว่าไข่เป็นสัญลักษณ์ของการเกิดมา และการมีชีวิตใหม่ และบังเอิญว่า เทศกาลอีสเตอร์ มาตรงกับช่วงฤดูใบไม้ผลิพอดี คริสตชนจึงได้นำประเพณีโบราณนี้ มาประยุกต์เอาว่า ไข่นั้นเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่ เป็นชีวิตเต็มไปด้วยความชื่นบานและความดี นอกจากนี้ ยังมีเกร็ดอีกว่า ในพระศาสนจักรเริ่มแรกนั้น ไข่ได้เคยห้ามรับประทานเป็นอาหารระหว่างเทศกาลมหาพรต แต่เมื่อจบเทศกาลมหาพรตแล้ว คริสตชนก็ต่างดีใจ ที่จะได้กินไข่อีกครั้งหนึ่ง และตั้งแต่นั้นมา ก็เป็นประเพณีกินไข่อีสเตอร์ และแจกไข่ในเวลาต่อมา
ถ้าหากเรามีโอกาสไปร่วมฉลองวันปัสกา หรืออีสเตอร์ตามโบสถ์ใหญ่ๆ เราจะเห็นว่าในวันนี้พวกเขาจะนำไข่ไปย้อมสีต่างๆ หรือวาดรูปและเขียนคำอวยพรต่างๆ นำไปซ่อนไว้ตามพุ่มไม้หรือกอหญ้า เพื่อให้ผู้ไปร่วมฉลอง ได้มีโอกาสค้นหาไข่ปัสกาหรือไข่อีสเตอร์ ไม่ว่าเด็ก คนหนุ่มสาว หรือแม้แต่คนเฒ่าแก่ พวกเขาจะค้นหาไข่ปัสกาด้วยความสนุกสนาน และมีความสุขที่สุด เพราะวันปัสกา เป็นวันแห่งความสุขวันหนึ่งสำหรับทุกๆ คนนั่นเอง
สำหรับคริสตชน "ปัสกา" มีความหมายว่า เป็นการผ่านความทุกข์ สู่ความยินดีโดยอาศัยการทนทุกข์ทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนชีพของพระเยซูคริสต์ ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือ การฉลองการได้รับชีวิตที่เป็นอิสระจากบาปและความตายนั่นเอง